เศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่? ขณะนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/66 โตได้เพียง 1.5% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด ทำให้ 9 เดือนแรกของปีโตได้เพียง 1.9% จากเป้าทั้งปี 2.5%
หลังจากสภาพัฒน์ประกาศตัวเลข GDP นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ก็ออกมาระบุว่าเป็นห่วงตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโตได้ต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังไตรมาสที่ 4 พร้อมย้ำประเทศไทยอยู่ในสภาพเศรษฐกิจวิกฤต และมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยต้องการผลักดันให้สำเร็จ
ขณะที่ยังมีหลากหลายความเห็นมองต่างว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะสภาพัฒน์ที่ให้ความเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี และยังไม่วิกฤต สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่บอกว่าเศรษฐกิจอยู่ในจุดวิกฤตหรือไม่นั้น คงต้องแล้วแต่การตีความว่าจะมองว่าวิกฤต หรือไม่วิกฤต
ส่วนฝ่ายการเมือง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่า แม้ GDP ไตรมาส 3/66 ของไทยจะขยายตัวเพียง 1.5% แต่หากพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวจะพบว่ายังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว ยืนยันได้วาเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้วิกฤต
แต่หากย้อนไปดูในอดีต เศรษฐกิจไทยเคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค 4 ครั้ง ในปี 2540, 2551, 2556, 2556-2557 และ 2563-2564
ครั้งแรก เกิดในปี 2540 เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2540 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2541 เป็นการลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน
ครั้งที่สอง เกิดในปี 2551 เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เป็นการลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ครั้งทื่สาม เกิดในปี 2556 เป็นช่วงที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศคือภาวะภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดของไทยที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เป็นการลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ครั้งที่สี่ เกิดในปี 2556-2557 เป็นช่วงที่เผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การลงทุน การค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 เป็นการลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ครั้งที่ห้า เกิดในปี 2563-2564 เป็นช่วงวิกฤตโควิด ที่ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งนโยบายการเปิดประเทศล่าช้า ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง
โลกโซเชียลเองก็ให้ความสนใจต่อประเด็นดังกล่าวค่อนข้างมาก “อินโฟเควสท์” จึงพาไปส่องคอมเมนต์ชาวโซเชียลบางส่วนว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้ วิกฤต หรือไม่? ซึ่งชาวโซเชียลได้มีการตั้งคำถามและถกเถียงกัน โดยให้เหตุผลและมุมมองที่แตกต่างกันไป
DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้รวบรวมการกล่าวถึง “วิกฤตเศรษฐกิจ” ในสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ ทวิตเตอร์ และติ๊กต็อก ตั้งแต่วันที่ 20-27 พ.ย. 66 ชาวโซเชียลได้มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีจำนวนการกล่าวถึงและการมีส่วนร่วม หรือ Buzz (มาจากการกล่าวถึง (Mention) รวมกับการมีส่วนร่วม (Engagement)) 976,763 ครั้ง
เศรษฐกิจ วิกฤต-ไม่วิกฤต ชาวเน็ตมองยังไง?
เศรษฐกิจวิกฤต
– วิกฤต เพราะทุกคนหนี้หัวโต ของแพง เงินรายวันไม่พอใช้ ต้องไปกู้ ไม่กู้ก็ไม่มีกิน หนี้มีแต่จะเพิ่ม รัฐควรรีบแก้ไขด่วน
– วิกฤตมานานแล้ว รายจ่ายสวนทางกับรายรับ คนรวย รวยเอาๆ คนชั้นกลางกับคนจน มีแต่รายจ่าย มีแต่กู้เงิน การส่งออกก็ไม่ค่อยดี ถึงดีก็ดีแค่บางกลุ่ม
– จังหวัดไกลๆ เล็กๆ จะตายหมดแล้ว เงียบเหงามาก ค้าขายไม่ดีสักอย่าง ทำเกษตรยิ่งจน
– ต้องรอให้บริษัทห้างร้านเจ๊งปิดตัวเองกันระนาว คนตกงานเป็นล้าน ถึงจะวิกฤตหรือไง GDP ขยายตัวต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องมาหลายปี อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าการขยายตัวของ GDP ติดต่อกันกว่า 10 ไตรมาสแล้ว
เศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต
– ยังไม่ได้วิกฤต แต่ยังไม่ฟื้นตัว อยู่ในช่วงซึมยาว ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างดี จึงทำให้เศรษฐกิจไม่ถดถอยแบบติดลบ สิ่งที่ต้องทำคือกระตุ้นตลาดทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริโภค โดยลดต้นทุนให้ทุกภาคส่วน เช่น ลดค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน และอื่นๆ ในที่สุดเงินในกระเป๋าของประชาชนก็จะมีมากขึ้น
– GDP โตน้อย เพราะส่งออกน้อย จากภาวะสงครามและผลกระทบจากโควิดในยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่บ้านเราไม่วิกฤติ ก็จะให้วิกฤตให้ได้
– เศรษฐกิจไม่ได้ดีจริง แต่ไม่วิกฤตถึงขั้นต้องไปกู้มาแจกแน่นอน เอะอะก็อ้างวิกฤตแล้วกู้ เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง ปล.หากตอนนี้เรียกวิกฤต ตอนโควิด ต้มยำกุ้ง จะให้เรียกอะไร
– ตอนออกนโยบายตอนแรก ไม่ได้เน้นแก้วิกฤต กะจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจเฉยๆ แต่ตอนนี้พอรู้ตัวต้องกู้ ก็ต้องมีวิกฤต ก็ต้องหาเหตุผลมาชักจูงให้กฤษฎีกาเชื่อว่ามีวิกฤตจนต้องกู้เงินถึง 5 แสนล้านมาจ่ายในโครงการนี้เพื่อแก้วิกฤต ทั้งที่มันไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน มันฝืนก็เลยยากหน่อย”
– ไทยเท่านั้นที่นายกฯ อยากให้ประเทศเกิดวิกฤต เพื่อจะได้ใช้เงินเหรียญดิจิทัลที่มีเบื้องหลัง ทั้งๆ ที่หน่วยงานองค์กรหลักภาคเอกชนนักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ไม่มีใครเห็นด้วย
– เดินสายต่างประเทศชวนต่างชาติมาลงทุน แต่พร่ำบอกว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตอยู่ทุกวัน ความย้อนแย้ง
– หากเศรษฐกิจประเทศไทยวิกฤต นักลงทุนต่างชาติ เขาไม่เข้ามาลงทุนหรอก นายกทุกคนของไทยที่บริหารประเทศ มักโอ้อวดว่าตนเองบริหารประเทศ แล้วเศรษฐกิจดี มีแต่รัฐบาลนี้แหละแปลก พยายามยัดเยียดให้เศรษฐกิจไทยไม่ดี เพื่อใช้อ้างเป็นความชอบธรรมในการกู้เงินมาแจก
– เพิ่งเคยเห็น รัฐบาลพยายามโฆษณาชวนเชื่อว่าประเทศมีวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะอยากกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกู้มาแจก แทนที่จะออกมารักษาภาพลักษณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่น่าเป็นห่วง ยังลงทุนได้อยู่รัฐบาลพร้อมสนับสนุนแต่กลับทำตรงข้าม ทำลายบรรยากาศการลงทุนที่แย่อยู่แล้ว และฉุด GDP
อ้างอิงข้อมูล: สำนักข่าวอินโฟเควสท์