ปรากฎการณ์แอปธนาคารล่ม! ช่วงสิ้นเดือน วิบากกรรมของคนรับเงินเดือนผ่านแบงก์ กรณีเมื่อวานนี้ (30 พ.ย.) ที่ทำให้ชาวเน็ตพากันเดือด ส่งเสียงวิจารณ์กันสนั่นในโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้แฮชแท็ก #scbล่ม ขึ้นเทรนด์เอ็กซ์ (ทวิตเตอร์)
ก่อนที่อีกแอปธนาคารล่มตามมาจนติดเทรนด์ #bblล่ม และ วันนี้ (1 ธ.ค.) วันแรกของเดือนสุดท้ายของปี ก็ยังมีรายงานข่าวว่ามีแอปธนาคารล่มกันอีกเป็นบางช่วงเวลา ทั้งแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงเทพ (BBL) และแอปพลิเคชันของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จนกระทั่งล่าสุดใช้งานได้เป็นปกติแล้ว
โซเชียลบ่นกันระงม!
ผู้ใช้บริการของธนาคารที่แอปล่ม ต่างเข้าไปบ่นในโซเชียลมีเดียอย่าง แพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) และ เฟซบุ๊ก
“บางรายเดือดร้อนหนักเจอปัญหาเข้าแอปธนาคารไม่ได้ขณะที่กำลังจ่ายเงินชำระค่าสินค้าแถมไม่มีเงินสดติดตัว”
“บางความเห็นแนะนำวิธีการแก้ปัญหาแอปล่ม ด้วยการเปิดใช้แอปธนาคารมากกว่า 1 แห่งเพื่อกระจายความเสี่ยงในการเข้าใช้บริการไม่ได้ แต่ก็มีคนเข้ามาบอกว่า ถึงสิ้นเดือนก็ล่มทุกแอปอยู่ดี..ถ้าให้ดีต้องกดเงินสดติดตัวไว้บ้างเผื่อฉุกเฉิน”
กรณีโมบายแบงก์กิ้งแอปพลิเคชันของธนาคารเกิดขัดข้อง หรือ แอปธนาคารล่ม! เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไร้เงินสด ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน การบริหารด้านการเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคารได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตไปแล้ว ผู้คนมีความพึงพอใจและต้องการที่จะใช้งานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเข้าใช้บริการแอปพลิเคชันของธนาคารไม่ได้ในเวลาที่ต้องการจึงไม่แปลกที่จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกหงุดหงิด
บังคับใช้แล้ว "ห้ามแอปธนาคารล่มเกิน 8 ชม.ในรอบ 1 ปี"
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology risk) ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และมีผลบังคับใช้แล้วหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีใจความสำคัญ ห้ามแอปธนาคารล่มเกิน 8 ชั่วโมงในระยะเวลา 1 ปี พร้อมกำหนดบทลงโทษตามระดับความรุนแรงเริ่มจากตักเตือนจนถึงโทษปรับสูงสุด 5 แสนบาท/ครั้ง รวมทั้งต้องดูแลให้มีการกู้คืนระบบให้กลับมาให้บริการได้โดยเร็ว
เปิดสถิติแอปธนาคารไหนล่มบ่อยสุด
ข้อมูลจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยสถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องที่กระทบต่อการให้บริการ Mobile Banking
อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย