วันที่ 9 ต.ค. 2566 นับว่าเป็นวันสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย เมื่อเวลา 8.36 น. ประเทศไทยสามารถส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) รัฐเฟรนช์เกียนา ประเทศฝรั่งเศส ด้วยจรวดนำส่ง Vega ก่อนจะเข้าสู่วงโคจรในเวลา 9.30 น. ท่ามกลางสักขีพยานจากทั่วโลก
และนับว่าเป็นข่าวดีที่แทรกขึ้นมาท่ามกลางข่าวร้ายในไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นที่สยามพารากอน ส่งผลให้คนไทยไม่น้อยบนโลกสังคมออนไลน์ต่างให้ความสนใจ อยากรู้ว่า THEOS-2 คืออะไร สำคัญอย่างไร คนไทยจะได้อะไรจากดาวเทียมดวงนี้ โดยข้อมูลจาก Google Trends เห็นว่าคนเริ่มให้ความสนใจและค้นหา THEOS-2 กันอย่างหนาแน่นตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 9 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการถ่ายทอดสดการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศผ่านทางเพจ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมีการกล่าวถึง THEOS-2, ธีออส-2 บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ อาทิ X (Twitter) TikTok และ Facebook โดยเฉพาะ Trends บน TikTok เริ่มไต่ระดับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 66 ซึ่งเป็นกำหนดการแรกในการปล่อยดาวเทียมแต่ต้องเลื่อนออกไปในวันที่ 9 ต.ค. เนื่องจากเกิดปัญหาทางเทคนิค
ทั้งยังพบว่าบนแพลตฟอร์ม Facebook มีการพูดถึงเรื่องการส่งดาวเทียมธีออส-2 ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่ง Word Cloud โดย Dataxet ได้รวบรวมการจับกลุ่มของคำบนโพสต์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับการส่งดาวเทียม THEOS-2 อย่างคำว่า “ดาวเทียม” และ “ขึ้นสู่วงโคจร” เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงมากบน Facebook ในช่วงวันนี้ (9 ต.ค.)
ภารกิจดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2
ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ภารกิจการสร้างและการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร เป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม ระหว่างไทยและฝรั่งเศส ซึ่งเห็นชอบร่วมกันในการยกระดับความร่วมมือในสาขาดังกล่าว ให้เอื้อประโยชน์ร่วมกันยิ่งขึ้นและสนองตอบเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังจากที่ได้ส่ง THEOS-1 หรือ ไทยโชต (Thaichote) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551
ทั้งนี้ THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่สามารถบันทึกภาพที่ได้รายละเอียดสูงมากถึง 50 เซนติเมตรต่อพิกเซล (cm/pixel) ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นดาวเทียมสำรวจโลกรายละเอียดสูงมาดวงแรกของประเทศ และ ดีที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งสมรรถนะที่สูงขึ้นนี้ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพดีขึ้นและมีความชัดเจนมากขึ้น สามารถนำมาติดตามและบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 มีประโยชน์ในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศหลากหลาย โดยจะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงและทำให้ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยเป็นปัจจุบัน ทันสมัย และมีความละเอียดที่ถูกต้อง ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการภัยธรรมชาติ การบริหารจัดการน้ำ การเกษตร การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ
หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว จะทำการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โหมดของการทำงาน รวมทั้งทดสอบระบบควบคุมและติดต่อสื่อสารกับภาคพื้นดินเพื่อความเสถียรและความแม่นยำของข้อมูลโดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือให้การบริการเชิงพาณิชย์ได้
ข้อมูลอ้างอิง: GISTDA, กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักข่าวอินโฟเควสท์