โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ

นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผุดไอเดียนวัตกรรม "โคโค่แลมป์" อุปกรณ์ครอบหลอดไฟ เบนแสงไฟบริเวณชายหาดที่รบกวนการวางไข่ของเต่าทะเล และช่วยลูกเต่าคลานลงทะเลได้อย่างปลอดภัย นวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และเต่าทะเล

เต่าทะเลในประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ ภัยคุกคามมีอยู่ด้วยกันหลายประการ หนี่งในนั้นคือแสงไฟจากโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหารบริเวณชายหาดที่เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล แสงไฟเหล่านี้รบกวนการวางไข่ของแม่เต่าทะเล และที่สำคัญคือมีผลทำให้ลูกเต่าที่ฟักออกมาเกิดความสับสน แทนที่จะเดินลงทะเล กลับเดินไปยังพื้นที่ที่มีแสงสว่าง เป็นเหตุให้ลูกเต่าจำนวนไม่น้อยต้องติดอยู่บนชายหาด ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกล่า ทำร้าย และขาดน้ำตายในที่สุด

ปัญหานี้เป็นแรงผลักดันให้ทีม Turtle Rangers นิสิตจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนา "โคโค่แลมป์"อุปกรณ์ครอบหลอดไฟที่จะช่วยเบนแสงไฟให้เหมาะสมกับเต่าทะเลตามหลัก Turtle friendly เพื่อให้ลูกเต่าคลานลงทะเลได้อย่างปลอดภัย

"เราได้ศึกษาข้อมูลตัวอย่างจากเกาะแอนนามาเรีย รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่แสดงให้เห็นว่าการจัดแสงไฟให้เป็นมิตรต่อเต่าทะเลสามารถลดจำนวนลูกเต่าที่หลงทางได้อย่างมีนัยสำคัญ เราจึงคิดค้นนวัตกรรม "โคโค่แลมป์" เพื่อช่วยแก้ปัญหาแสงไฟที่รบกวนการวางไข่และการคลานลงทะเลของลูกเต่าทะเล ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พวกเราอยากให้คนและเต่าอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข" นางสาวมนพัทธ์ สีเงิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสมาชิกทีม Turtle Rangers กล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนา "โคโค่แลมป์"

โคโค่แลมป์เป็นมิตรต่อเต่าทะเลและธรรมชาติ

น.ส.มนพัทธ์เล่าว่าโคโค่แลมป์เป็นนวัตกรรมครอบหลอดไฟเบนแสงสำหรับเต่าทะเล ที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับหลักการจัดแสงที่เป็นมิตรต่อเต่าทะเลตามข้อเสนอแนะขององค์กรบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่าแสงไฟต้องอยู่ในระดับต่ำ ใช้หลอดไฟที่มีคลื่นแสงยาว และมีอุปกรณ์ครอบหลอดไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้แสงไฟส่องไปทางทะเล

นอกจากจะออกแบบอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อเต่าทะเลแล้ว ทีม Turtle Rangers ยังออกแบบโคโค่แลมป์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย

"โคโค่แลมป์ผลิตจากเส้นใยมะพร้าวที่ได้จากชุมชน โดยมียางพาราเป็นตัวเชื่อมประสานและเคลือบด้วยซิลิกาจากแกลบข้าว ซึ่งยางพารามีคุณสมบัติในการเคลือบเส้นใยและยึดติดเส้นใย ทำให้วัสดุมีความแข็งแรง ยืดหยุ่น และทนทานต่อน้ำ ส่วนซิลิกาจากแกลบข้าวช่วยป้องกันน้ำ ฝุ่นละออง และคราบสกปรก โคโค่แลมป์จึงมีความคงทน ติดตั้งง่าย ใช้งานได้ในทุกสภาพแวดล้อม ราคาไม่แพง และที่สำคัญย่อยสลายได้ในธรรมชาติ" น.ส.มนพัทธ์สรุปจุดเด่นของนวัตกรรม

ติดตั้งและใช้งานโคโค่แลมป์อย่างไร

น.ส.มนพัทธ์กล่าวว่าการติดตั้งและใช้งานโคโค่แลมป์นั้นไม่ยาก เพียงนำอุปกรณ์โคโค่แลมป์ไปครอบหลอดไฟบริเวณชายหาด ที่มีการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืนและมีรายงานการพบเต่าทะเลมาวางไข่ โคโค่แลมป์ก็จะช่วยเบนทิศทางของแสงไฟไม่ให้สาดหรือส่องไปทางทะเล

"การติดตั้งโคโค่แลมป์จะช่วยปรับสภาพแวดล้อมบริเวณชายหาดเหมาะสมกับการวางไข่และฟักตัวของเต่าทะเล และยังจะช่วยให้ลูกเต่าที่ฟักออกจากไข่คลานลงทะเลได้อย่างปลอดภัย"

นอกจากอุปกรณ์ครอบหลอดไฟแล้ว โคโค่แลมป์ยังมีการใช้ Line Chatbot เพื่อช่วยรวบรวมข้อมูลและประเมินผลการใช้งานของอุปกรณ์ภายหลังการติดตั้งและใช้งานจริงด้วย

"ผู้ใช้งานสามารถส่งข้อมูลและรายงานผลการติดตั้งและประสิทธิภาพของโคโค่แลมป์ผ่านทาง Line Chatbot ซึ่งจะทำให้มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อวิเคราะห์ผลการใช้งาน นอกจากนี้ Chatbot ยังสามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการติดตั้งและการดูแลรักษาโคโค่แลมป์ด้วย"น.ส.มนพัทธ์อธิบาย

ปลุกจิตสำนึกรักษ์เต่าทะเล หนุนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวชุมชน

โคโค่แลมป์ไม่เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ช่วยปรับสภาพแวดล้อมบริเวณชายหาดให้เหมาะสมกับการวางไข่และการฟักตัวของเต่าทะเล แต่ น.ส.มนพันทธ์ และทีม Turtle Rangers ยังหวังให้นวัตกรรมนี้จุดประกายให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในสังคม ได้แก่ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการและคนในท้องถิ่น หันมาร่วมกันอนุรักษ์เต่าทะเลและสิ่งแวดล้อม

"พวกเราเชื่อว่าการติดตั้งและใช้นวัตกรรมนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกการอนุรักษ์เต่าทะเลที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เกี่ยวข้องกับเต่าทะเล ซึ่งสามารถสร้างรายได้มากกว่าการล่าเต่าเพื่อเป็นอาหารและเครื่องประดับถึงเจ็ดเท่า เป็นการรักษาสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน" น.ส.มนพันทธ์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

ปัจจุบัน ทีม Turtle Rangers กำลังพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของ "โคโค่แลมป์" ในห้องทดลอง ก่อนที่จะผลิตอุปกรณ์เพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่จริง ที่ได้สำรวจไว้แล้วเพื่อประเมินผลการใช้งาน

"ในอนาคต พวกเรามีแผนที่จะพัฒนาโคโค่แลมป์ให้เป็นธุรกิจ Start up และตั้งใจว่าจะออกแบบนวัตกรรมอื่น ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" น.ส.มนพัทธ์กล่าวทิ้งท้าย

"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงติด 100 อันดับแรกของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ โดย (QS) World University Rankings 2021-2022"