เสริมทัพการตลาดให้ปังด้วย Micro-Content รับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล
Micro-Content เป็นกลยุทธ์การทำคอนเทนต์แบบสั้น โดยย่อยประเด็นออกมาให้กระชับ เข้าใจง่าย เพื่อดึงความสนใจจากลูกค้าบนโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียในช่วงสั้น ๆ เหมาะกับการนำมาใช้ในแคมเปญการตลาด เพราะอย่างที่รู้กันว่าความสนใจของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลจะอยู่แค่ประมาณ 8-10 วินาที
นอกจากนี้ การทำคอนเทนต์แบบ Micro-Content ยังมีหลายรูปแบบ ครอบคลุมตั้งแต่อินโฟกราฟิก, โพสต์บนโซเชียลมีเดีย, มีม ไปจนถึงวิดีโอสั้น เช่น Reel บนเฟซบุ๊ก หรือ Short ของยูทูบ
ทำไมแบรนด์ต้องมี Micro-Content
เพราะพฤติกรรมการเสพสื่อและคอนเทนต์ในยุคดิจิทัลที่ผู้คนนิยมอ่านและรับชมคอนเทนต์ผ่านสมาร์ตโฟน ทำให้ Micro-Content มีความเหมาะสมและช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายกับแบรนด์ ซึ่งไมโครคอนเทนต์ที่กระชับ เข้าใจง่าย และทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจข้อมูลที่ซับซ้อนได้ทันทีนั้น มักจะเตะตาและดึงดูดความสนใจได้ดี ทั้งยังช่วยให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ในแคมเปญได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้แบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องการดึงความสนใจจากผู้บริโภค ยกระดับการรับรู้ในแบรนด์ และสามารถบรรลุเป้าหมายการทำแคมเปญได้
นอกจากนี้ Micro-Content ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยแบรนด์ที่ต้องทำคอนเทนต์โพสต์ลงโซเชียลมีเดียทุกวัน เช่น รีวิวจากลูกค้า รายละเอียดของสินค้า หรือคอนเทนต์ประเภทให้ความรู้ แบรนด์ก็อาจจะใช้ Micro-content เช่น คอนเทนต์ที่มีการเปิดให้โหวตหรือทำโพลล์แบบง่าย ๆ เพื่อให้ผู้อ่านหรือกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการแสดงความคิดเห็นเข้ามาสลับการทำคอนเทนต์ในรูปแบบอื่น ๆ
หากคอนเทนต์โดนใจลูกค้า อัตราการมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นยอดคอมเมนต์และยอดแชร์ที่สูงของแบรนด์ก็อาจจะผลักดันให้คอนเทนต์กลายเป็นไวรัลได้
หากจะพูดว่ากลยุทธ์คอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จไม่ควรจะยึดติดแค่คอนเทนต์ที่มีเนื้อหายาวและต้องกลั่นกรองเป็นเวลานานก็คงจะไม่ผิดเท่าไรนัก การสอดแทรกคอนเทนต์ที่เนื้อหากระชับ สนุกสนาน และเป็นกันเองด้วย เพราะนอกจากจะชิงความสนใจจากผู้บริโภคได้แล้ว ยังสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในจุดที่สำคัญ ๆ บนเส้นทาง Customer Journey ได้อีกด้วยตั้งแต่กระบวนการการรับรู้ การพิจารณา การซื้อสินค้า การใช้ซ้ำ และการบอกต่อ
แบรนด์ควรปรับใช้ Micro-Content อย่างไร
รูปแบบของการปรับใช้ Micro-Content มีหลากหลาย แบรนด์สามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ ดังนี้
1) วิดีโอสั้น
ควรจะมีความยาวไม่เกิน 60 วินาที ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอที่เผยแพร่ทางติ๊กต๊อก (TikTok) หรือ Short บนยูทูบแบรนด์สามารถนำเสนอคอนเทนต์เพื่อเพิ่มการรับรู้แบรนด์หรือส่งเสริมการมีส่วนร่วม เช่น คลิปวิดีโอสาธิตการใช้งานผลิตภัณฑ์ความยาว 30 วินาที วิดีโอภาพเบื้องหลัง หรือแม้แต่ตัดคอนเทนต์บางส่วนที่สามารถนำมาตัดเป็นคลิปไฮไลท์ เพื่อชวนให้ผู้บริโภคกดเข้าไปดูคลิปเต็ม
2) จัดทำอินโฟกราฟิก
สามารถนำมาใช้เพื่อเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เช่น รูปภาพ แผนภูมิ และกราฟ ผู้อ่านสามารถเข้าใจประเด็นสำคัญได้เพียงไม่กี่วินาที แบรนด์อาจสรุปบทความที่มีเนื้อหายาวออกมาเป็นกราฟ หรือโพสต์แบบภาพสไลด์พร้อมคำอธิบาย (Carousel Post) เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลื่อนภาพ เพื่อดูข้อความหรือรูปภาพทั้งหมดได้เช่นกัน
3) โพสต์ข้อความสั้นบนโซเชียลมีเดีย
แบรนด์สามารถทำข้อความแบบสรุปหรือย่อเนื้อหาให้สั้น กระชับพอดีคำ เช่น ประกาศข่าวหรือข้อความสั้นๆ ที่น่ารู้ โพสต์คำถามที่ชวนให้ค้นหาคำตอบบนเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่บนแพลตฟอร์มอย่างเอ็กซ์ หรือทวิตเตอร์ ที่จำกัดตัวอักษรเพียงไม่กี่คำ ก็สามารถครีเอตข้อความสั้นๆ ได้
4) คอนเทนต์เชิงตอบโต้ (Interactive)
วิธีนี้แบรนด์สามารถเชิญชวนให้ลูกค้ามาร่วมกิจกรรมกับแบรนด์ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เช่น ฟีเจอร์การสำรวจความคิดเห็นโดยเปิดให้โหวตผลิตภัณฑ์ที่โดนใจ หรือฟีเจอร์กล่องคำถามในอินสตราแกรม
5) มีม หรือ ภาพ Gif
เป็นอีกประเภทของคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่ม Gen Z เนื่องจากสามารถสื่อสารถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วด้วยการใช้เหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจ ทำให้เกิดการแชร์ได้ง่าย แต่สิ่งที่ต้องระวังคือแบรนด์ต้องมั่นใจว่ามีมนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายการสื่อสารของแบรนด์
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมสลับทำ Micro-Content กันบ้างล่ะ …
Woravich Sittiwang / Sunita Phanraksa