ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของ Google เคยประกาศมาตั้งแต่เมื่อปี 2559 ว่า Google เป็น “An AI first company” และในปี 2561 ซีอีโอ Google ยังกล่าวด้วยว่า “AI will be one of the most important things to humanity … more profound than … electricity or fire” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของ Google ที่มองเห็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของ AI จนมาถึงปี 2567 AI ก็มาแรงตามที่ซีอีโอ Google ได้ประกาศไว้ จนถึงตอนนี้ เราจะปลดล็อกพลัง AI ได้อย่างไรบ้าง
ไอริณ ขันธะชวนะ Head of Industry, Consumer Goods Sector จาก Google Thailand ได้ขึ้นเวทีแชร์มุมมองถึงเรื่องในงาน Marketing Oops! Summit 2024 หัวข้อ “Marketing in the Age of AI: Unlocking the Power Beyond the Hype” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวและใช้ประโยชน์จาก AI ในการทำการตลาดยุคใหม่
Google Thailand แนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนมุมมองจากการเป็น "นักการตลาด" สู่การเป็น "ผู้บริโภคธรรมดา ๆ" คนนึงแทน แล้วจะพบว่า จริง ๆ แล้ว AI อยู่ในทุก ๆ ส่วนของชีวิตเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร
แม้ว่า คำถามที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ที่ว่า “AI คืออะไร” แล้ว “จะใช้ AI อย่างไร” หรือคำถามยอดนิยมที่ชี้ให้เห็นว่า หลายคนยังคงกังวลว่า “AI จะมาแทนที่เรารึเปล่า” คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ ผู้บริหารของ Google Thailand อย่างคุณไอริณได้แนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนมุมมองจากการเป็น”นักการตลาด”สู่การเป็น”ผู้บริโภคธรรมดา ๆ”คนนึงแทน แล้วจะพบว่า จริง ๆ แล้ว AI อยู่ในทุก ๆ ส่วนของชีวิตเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร และอยู่เบื้องหลังโซลูชั่นต่าง ๆ ของ Google มาโดยตลอด เช่น Predictive AI อย่าง Google Maps ผู้ช่วยยอดนิยมของใครหลายคนที่คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือในเรื่องการเดินทางไปไหนมาไหน Google Maps เปิดตัวในไทยมาตั้งแต่ปี 2552 และเราก็ได้ใช้งาน Google Maps กันมาตั้งนานโดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้งาน AI อยู่ ด้วยเหตุนี้ กรณีของ Google Maps จึงน่าจะทำให้หลาย ๆ คนคลายความกังวลและมีคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “เราจะเชื่อ AI ได้ยังไง” เพราะที่ผ่านมา เราก็ขับรถตามที่ Google Maps บอกจนสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างถูกต้อง
สำหรับนักการตลาดในยุคปัจจุบันแล้ว AI มีความสำคัญมาก เนื่องจากหัวใจของ AI คือ ความสามารถในการเรียนรู้และประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการค้นหาข้อมูลแล้วจึงประมวลผลออกมาคล้าย ๆ กับสิ่งที่มนุษย์คิด ซึ่งการประมวลผลและค้นหาข้อมูลแบบนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่มักจะนิยมใช้คำสั้นๆ ในการค้นหา ได้พัฒนามาสู่การค้นหาโดยใช้คำที่มีความยาวขึ้นและมีรายละเอียดมากขึ้นจนกลายเป็นประโยค ไอริณได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
ปัจจุบัน 15% ของการค้นหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ล้วนเป็นคำค้นหาใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับการทำตลาดแบบ Paid Search เพราะเราสามารถใช้ AI ซึ่งมีความสามารถในการใช้ข้อมูลจาก Google มาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคได้
โดย AI ของ Google จะพิจารณาจากวิดีโอล่าสุดที่ผู้ใช้งานรับชม และดู 5 คำค้นหาล่าสุด เพื่อประเมินว่าผู้ใช้งานหรือผู้บริโภครายนี้มีความสนใจในผลิตภัณฑ์จริง ๆ หรือไม่ หรือแค่สนใจในสินค้าและบริการที่อยู่ในหมวดหมู่ใกล้เคียงกันเท่านั้น การวิเคราะห์เชิงลึกด้วย AI เช่นนี้ จะช่วยให้การลงทุนในการโฆษณาแบบ Paid Search มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจจริง ๆ
การแบ่งกลุ่มผู้ใช้งาน AI
นอกจากนี้ ทาง Google ยังได้แบ่งกลุ่มผู้ใช้ AI ออกเป็น 4 ระดับ ตามระดับการนำ AI มาใช้ในองค์กร ดังนี้
AI Explorer: องค์กรที่เริ่มนำ AI มาใช้ โดยมีการใช้งาน AI ประมาณ 33%
AI Adopter: องค์กรที่นำ AI มาใช้ในระดับปานกลาง โดยมีการใช้งาน AI ในสัดส่วนระหว่าง 33-65%
AI Leader: องค์กรที่นำ AI มาใช้อย่างกว้างขวาง โดยมีการใช้งาน AI ระหว่าง 66-100%
AI Pioneer: องค์กรที่สามารถพัฒนาโซลูชัน AI ได้เอง
และจากผลการศึกษาพบว่า การนำ AI มาใช้ให้ผลลัพธ์ในด้านของการประหยัดเวลาในการทำงานและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ดังนี้
AI Explorer: สามารถการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายไปได้ 18%
AI Adopter: สามารถการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายไปได้ 73%
AI Leader: สามารถการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายไปได้สูงถึง 95%
จากข้อมูลสถิติข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ยิ่งองค์กรนำ AI มาปรับใช้มากเท่าไร องค์กรและคนในองค์กรก็จะได้รับประโยชน์ในแง่ของการประหยัดเวลาในการทำงานและประหยักค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น จากการค้นคว้าของ Google ยังพบด้วยว่า องค์กรที่นำ AI มาปรับใช้ สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 20-50% ไอริณได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อมูลในการพัฒนา AI ว่า
"ความฉลาดของ AI ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่ Data" เพราะ Data สามารถแปลงเป็นข้อมูลเชิงลึก หรือ Insights ที่มีคุณค่า โดยทาง Google มองว่า AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของบริษัทที่ต้องการ "ทำให้ข้อมูลเข้าถึงได้สำหรับทุกคน"
สำหรับนักการตลาด ไอริณแนะนำให้ใช้ AI ในการทำงานที่ซ้ำซาก เช่น การรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูล แล้วนำเวลาที่ประหยัดได้ไปใช้ในการคิดสร้างสรรค์ พัฒนาบุคลากร และวางแผนกลยุทธ์ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Google จะมี AI Solutions ที่ช่วยให้เกิดการซื้อขายได้ แต่การสร้างความผูกพันระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ยังคงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของนักการตลาด ซึ่งยังคงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับลูกค้าเพื่อผลลัพธ์ที่ดีอย่างยั่งยืน
อ่านกันมาถึงตรงนี้ ท้ายที่สุดแล้วอย่าลืมว่า “You’re the marketer, AI is the enabler” คำคมส่งท้ายบนเวทีจากคุณไอริณ “เราน่ะเป็นนักการตลาด ส่วน AI เป็นผู้ช่วยของเรา”
By Piyatida Treesuwan , Sunita Phanraksa