โซเชียลจับตา “ตึกถล่ม-อาฟเตอร์ช็อก” ประเด็นร้อนหลังแผ่นดินไหว

จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งแรงสั่นสะเทือนถึงหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลต่ออาคารสูง มีรายงานตึกถล่มและผู้เสียชีวิต ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและเฝ้าติดตามสถานการณ์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในช่วงวันที่ 28-31 มีนาคม 2568 ด้วยเครื่องมือ Social Listening (DXT360) พบว่าประเด็นหลักที่ได้รับความสนใจโดยมีเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) สูงสุดคือ “ตึกถล่ม” (37%) รองลงมาคือ อาฟเตอร์ช็อก (27%) การช่วยเหลือผู้รอดชีวิต (26%) การสัญจร (5%) และความมั่นคงของอาคาร (5%) 

และจากการเก็บข้อมูล พบว่าประชาชนใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการรายงานเหตุการณ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง 

  • ตึกถล่ม (37%)

อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งกำลังก่อสร้างบนถนนกำแพงเพชร 2 ใกล้ตลาดนัดจตุจักร พังถล่มลงมาภายในไม่กี่นาทีหลังจากกรุงเทพฯ รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในเมียนมา ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก สร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากตั้งคำถามถึงมาตรฐานการก่อสร้างอาคารในไทย และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมซ้ำรอย  

  • อาฟเตอร์ช็อก (27%)

แม้แผ่นดินไหวหลัก (Mainshock) จะผ่านไปแล้ว แต่จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า มีอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังเหตุการณ์ แม้จะไม่สร้างความเสียหายเพิ่มเติมแต่ก็เพิ่มความวิตกกังวลให้กับประชาชนอย่างมาก บนโซเชียลมีเดียมีการพูดถึงอาการเวียนหัว บ้านสั่นไหว และความหวั่นใจว่าจะเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีก  

  • การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากตึกถล่ม (26%)

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนหลังแผ่นดินไหว กระแสความห่วงใยจากประชาชนหลั่งไหลผ่านโซเชียลมีเดีย ผู้คนส่งต่อกำลังใจให้ทีมกู้ภัยที่กำลังปฏิบัติงาน เสี่ยงอันตรายเพื่อตรวจสอบซากอาคารและค้นหาผู้ที่อาจติดอยู่ใต้โครงสร้าง โดยหนึ่งในทีมที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากคือ “ทีม K9” สุนัขกู้ภัย ซึ่งลงพื้นที่ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการค้นหาผู้ประสบภัยในพื้นที่อาคารถล่ม ด้วยความทุ่มเทและมีประสิทธิภาพทำให้เป็นกระแสไวรัลอย่างต่อเนื่อง จนหลายคนยกให้เป็น “ฮีโร่ในนาทีวิกฤติ” ที่เข้าถึงจุดเสี่ยงก่อนใคร  

  • รถไฟฟ้า BTS และ MRT ปิด การจราจรติดขัด คนกรุงต้องเดินกลับบ้าน (5%)

หลังเกิดแผ่นดินไหว ระบบขนส่งมวลชนหลักของกรุงเทพฯ อย่างรถไฟ้ฟ้า BTS และ MRT ต้องหยุดให้บริการทันทีเพื่อความปลอดภัย ส่งผลให้ผู้โดยสารจำนวนมากตกค้างอยู่บนสถานี ขณะเดียวกัน การจราจรบนถนนหลายสายกลายเป็นอัมพาต เนื่องจากผู้คนจำนวนมากพากันออกจากอาคารและเดินทางกลับที่พักพร้อมกัน รถแท็กซี่และรถโดยสารที่ไม่เพียงพอทำให้หลายคนต้องตัดสินใจ “เดินเท้ากลับบ้าน” แม้ในระยะทางที่ไกลกว่าปกติ กลายเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของหลายคนที่ไม่มีวันลืม  

  • ความมั่นคงของโครงสร้างอาคาร (5%)

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาคารสูงถูกสั่นคลอน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมรวมถึงผู้ที่ทำงานอยู่ในอาคารสูง แม้หลายอาคารจะไม่ได้รับความเสียหายรุนแรง แต่การพบรอยร้าวเล็ก ๆ หรือได้ยินเสียงแตกร้าวของโครงสร้างก็สร้างความกังวลและตื่นตระหนกให้กับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในอาคารสูงอย่างมาก 

จากกระแสความวิตกกังวล ทำให้ประเด็นเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างได้รับความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการกล่าวถึงบริษัท ฤทธา (RITTA) ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างชั้นนำของไทยอย่างกว้างขวางในแง่บวก หลายโครงการที่ดำเนินการสร้างโดยบริษัทนี้ได้รับคำชื่นชมว่าได้รับผลกระทบน้อยมากจากเหตุแผ่นดินไหว แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานโครงสร้างที่แข็งแกร่งและน่าเชื่อถือของงานก่อสร้าง จนกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงในโซเชียลมีเดีย 

กทม. หน่วยงานที่ถูกพูดถึง (Mention) มากที่สุด

วิเคราะห์จากข้อมูล Mentions บนโซเชียลมีเดีย หน่วยงานใดบ้างที่สังคมมองว่าขยับได้ทันในภาวะวิกฤต: 

หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิด สังคมยังตั้งคำถามถึงการทำงานของหน่วยงานรัฐว่า พร้อมรับมือแค่ไหน?” เพราะไม่ใช่ทุกหน่วยงานที่มีแผนชัดเจน บางแห่งได้รับคำชมจากการตอบสนองรวดเร็ว ขณะที่บางแห่งถูกวิจารณ์จากความล่าช้าหรือความเงียบ ในช่วงวิกฤตที่กรุงเทพฯ ต้องการความช่วยเหลือสูงสุด นี่คือภาพรวมของหน่วยงานที่สังคมออนไลน์มองว่าขยับได้ทันต่อเหตุการณ์ 

  • กทม. (52%) 

แผ่นดินไหวในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาส่งแรงสั่นสะเทือนถึงไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สั่งตั้งวอร์รูมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของ กทม. ลงพื้นที่ตรวจสอบและรายงานความเสียหายในทันที ขณะที่การจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ติดหนักขั้นวิกฤติ และรถไฟฟ้าทุกสายปิดให้บริการเนื่องจากความปลอดภัย  

ท่ามกลางความโกลาหล กทม. เปิดสวนสาธารณะตลอด 24ชั่วโมง เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่เหตุอาคารกำลังก่อสร้างของ สตง. ถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้สูญหายจำนวนมาก ผู้ว่าฯ ชัชชาติ และทีมงานลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง 

จากการปฏิบัติงานของ กทม. และผู้ว่าฯ ชัชชาติ สังคมออนไลน์ต่างชื่นชมการทำงานที่รวดเร็วและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชน สื่อสารข้อมูล รวมถึงประสานงานความช่วยเหลือให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ 

  • กรมอุตุนิยมวิทยา (20%) 

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศทันที ระบุว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในหลายจังหวัดรวมถึงกรุงเทพฯ  

อย่างไรก็ตาม คำถามที่เกิดขึ้นในสังคมคือ ทำไมไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า? ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกมาชี้แจงว่า “แผ่นดินไหวยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้ระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐานสากลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง” 

แม้ไม่สามารถเตือนล่วงหน้าได้ แต่หลังเหตุการณ์ กรมอุตุฯ ได้เฝ้าระวังและรายงาน อาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) อย่างต่อเนื่อง ผ่านเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลมีเดียของหน่วยงาน โดยอัปเดตตำแหน่ง ความลึก และขนาดของแรงสั่นสะเทือนแบบเรียลไทม์ ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนใช้เป็นข้อมูลหลักในการติดตามสถานการณ์ 

นอกจากกรุงเทพมหานครและกรมอุตุนิยมวิทยา ยังมีหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่ถูกจับตาถึงบทบาทในการรับมือต่อสถานการณ์ ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (12%) กรมโยธาธิการและผังเมือง (10%) และ กสทช. (6%) 

10 อันดับสื่อไทยรายงานแผ่นดินไหว ยอดเอ็นเกจฯ เฟซบุ๊กพุ่ง

ในช่วงวิกฤตที่ประชาชนต้องการข้อมูลที่รวดเร็วและน่าเชื่อถือเพื่อประเมินสถานการณ์ สื่อจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งต่อข้อเท็จจริงเพื่อลดความสับสน ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของ Dataxet พบว่า สื่อไทยที่มียอดเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) บน Facebook สูงที่สุดในช่วงวันที่ 28-31 มี.ค. 2568 ได้แก่ ข่าวสด มียอดรวมอยู่ที่ 4.29 ล้านครั้ง รองลงมา ไทยรัฐ มียอดรวม 4.23 ล้านครั้ง และอีจัน ยอดรวมอยู่ที่ 2.80 ล้านครั้ง

AmarinTV มียอดรวม 2.0 ล้านครั้ง Drama-addict มียอดรวม 9.98 แสนครั้ง มติชน มียอดรวม 9.53 แสนครั้ง The Standard มียอดรวม 9.03 แสนครั้ง Ch7HD มียอดรวม 8.91 แสนครั้ง ThaiPBS มียอดรวม 8.35 แสนครั้ง และ ข่าวช่อง 8 มียอดเอ็นเกจเมนต์รวม 7.98 แสนครั้ง 

โซเชียลชื่นชม! แห่แชร์น้ำใจ “ร้านอาหาร” ช่วงฉุกเฉิน

ท่ามกลางความโกลาหล ร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เมื่อลูกค้าต้องรีบออกจากร้านเพื่อหาที่หลบภัยโดยยังไม่ได้ชำระเงิน อย่างไรก็ตาม หลายร้านเลือกความปลอดภัยของลูกค้าเป็นอันดับแรก พร้อมแสดงความมีน้ำใจด้วยการ “ยกเว้นค่าอาหาร” และขอบคุณลูกค้าที่ติดต่อกลับมาชำระเงินภายหลัง สร้างกระแสชื่นชมและได้รับเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) สูงในโซเชียลมีเดีย 

ร้านที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ เอ็มเค เรสโตรองต์ (MK Restaurants) 66% รองลงมา สุกี้ตี๋น้อย (Suki Teenoi) 19% ไอเบอร์รี่ (iberry) 10% มากุโระ (Maguro) 2% และโอ้กะจู๋ (OHKAJHU) 1% และ อื่นๆ 2% ตามลำดับ 

โซเชียลมีเดียกับบทบาทสำคัญช่วงภัยพิบัติ

ในช่วงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลักเนื่องจากขาดการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการจากภาครัฐ เช่น ระบบ SMS หรือ Emergency Alert ที่ควรทำหน้าที่สื่อสารยามฉุกเฉิน 

จากการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้โซเชียลมีเดียในช่วงเวลาดังกล่าว พบรูปแบบที่น่าสนใจ ดังนี้: 

  • การรายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์: ผู้คนมักโพสต์ทันทีที่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ไม่ว่าจะเป็นโพสต์สอบถามข้อมูล, โพสต์แจ้งเตือนผู้อื่น, โพสต์เนื้อหาตลกหรือมีม หรือโพสต์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ 
  • การใช้แฮชแท็กยอดนิยม: มีการใช้แฮชแท็กอย่างกว้างขวาง เช่น #แผ่นดินไหว #ตึกถล่ม เพื่อรวบรวมข้อมูลและติดตามสถานการณ์ 
  • การแชร์คลิปวิดีโอและภาพถ่าย: ประชาชนจำนวนมากมีส่วนร่วมในการแชร์ภาพจากกล้องวงจรปิดหรือคลิปวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์จริง ซึ่งช่วยให้เห็นภาพสถานการณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

โซเชียลมีเดียกลายเป็นศูนย์กลางในการติดตามข่าวสาร แลกเปลี่ยนข้อมูล และเฝ้าระวังเหตุการณ์ โดยประชาชนใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ในการแจ้งเหตุ แชร์คลิปวิดีโอความเสียหาย และแสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคารสูง

ข้อมูลเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อทุกภาคส่วนในการวางแผนรับมือและให้ความช่วยเหลือผู้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลง แต่เสียงจากโลกออนไลน์ยังคงสะท้อนถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาฟเตอร์ช็อก และมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งให้ความสำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนต่อไป

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 28-31 มีนาคม 2568

Author picture

By Saran Chareonsuk, Panida Pinapang, Chareef Soudon, Narupon Klaiyuangthong

ข่าวเกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

โซเชียลจับตา “ตึกถล่ม-อาฟเตอร์ช็อก” ประเด็นร้อนหลังแผ่นดินไหว

จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งแรงสั่นสะเทือนถึงหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผล…

Read More »

เจาะเทรนด์ “ซูชิ” เมนูฮิตติดกระแส คนแชร์สนั่นรีวิวแน่น

“ซูชิ” อาหารญี่ปุ่นยอดนิยมที่ครองใจคนไทยมาทุกยุค ตั้งแต่โอมากาเสะสุดหรู ร้านเชนในห้างสรรพสินค้าไปจนถึงซูชิตลาดนัดราคาย่อมเยา ความนิยมนี้สะท้อนผ่านกระแสโซเชียลมีเดียที่พุ่งแรงจากยอดเอ็นเกจเ…

Read More »

“มัทฉะ” ฟีเวอร์! แบรนด์ไหน โซเชียลเลิฟ

“มัทฉะ” กลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดียด้วยยอดเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) สูงถึง 5,219,570 ครั้ง ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน ส่งผลให้ร้านค้าหลายแห่งประสบปั…

Read More »

เสียงจากโซเชียล จี้รัฐ! แก้วิกฤตฝุ่น PM2.5

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม ปัญหามลพิษทางอากาศจาก “ฝุ่น PM2.5” กลายเป็นสิ่งที่คนไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเมื่อค่าฝุ่นมักเกินมาตรฐานบ่อยครั้ง ปัญหานี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่…

Read More »

ส่องแนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายเทศกาลตรุษจีน

“ตรุษจีน” เป็นหนึ่งในเทศกาลที่คนไทยให้ความสำคัญ และเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากในรอบปี เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรเชื้อสายจีนจำนวนมาก ทำให้วัฒนธรรมจีนถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยม…

Read More »

รถติดกรุงเทพฯ โซเชียลแชร์ 5 แยกสุดโหด เลี่ยงได้เลี่ยง!

ปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมานาน ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและคมนาคมของประเทศ กรุงเทพฯ กำลังเผชิญกับวิกฤตการจราจรที่มากขึ้นทุกวัน ผลการศึกษาจากศาสตราจารย์…

Read More »