วิกฤต CrowdStrike สั่นสะเทือนโลกไอที โซเชียลระอุ! แห่แชร์ผลกระทบรวมถึงจอฟ้ามรณะ ดันเอ็นเกจเมนต์พุ่งเกือบ 6 แสนครั้ง พร้อมเผยกลยุทธ์ Real-time Marketing สุดสร้างสรรค์ที่บรรดาแบรนด์และชาวเน็ตโดดร่วมวงฉวยโอกาสจากวิกฤตทำ Real-time Content เพิ่มเอ็นเกจเมนต์ให้แบรนด์

บทนำ
CrowdStrike บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นนำ กลายมาเป็นกระแสให้คนทั่วโลกพูดถึงจนขึ้นเทรนด์เอ็กซ์ระดับโลกในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 หลังการอัปเดตซอฟแวร์ใหม่โดยส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการ Windows กว่า 8.5 ล้านเครื่องทั่วโลกเกิด “จอฟ้ามรณะ” หรือ “Blue Screen of Death” ทำให้ใช้งานไม่ได้ ผลกระทบลุกลามสู่ธุรกิจสำคัญ ทั้งสายการบิน ธนาคาร และโรงพยาบาล ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) ในช่วงวันที่ 19-24 กรกฎาคม 2567 พบว่ามีการพูดถึง (Mention) ถึง 3,654 ครั้ง และ ได้รับการมีส่วนร่วม หรือเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) จำนวน 579,759 ครั้ง โดย Engagement ของ DXT360 จะนับรวมเฉพาะ reactions comments และ shares
Key Takeaways
- วิกฤตปัญหา CrowdStrike พบว่าชาวโซเชียลในไทยพูดถึงประเด็นเรื่องผลกระทบต่อระบบและการให้บริการมากที่สุด 38.6%
- คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจและกล่าวถึงปัญหา Blue Screen จาก Windows มากกว่า ปัญหาการอัปเดตระบบของ CrowdStrike
- Real-time Marketing ยังคงได้ผลลัพธ์ที่ดีและช่วยเพิ่มการรับรู้แบรนด์ได้เสมอ หากแบรนด์และผู้ติดตามมีความเข้าใจและทันต่อเหตุการณ์ที่อยู่ในกระแส
- KOL (Key Opinion Leader) เป็นอีกหนึ่งที่พึ่งสำคัญของชาวโซเชียลในการหาคำตอบสำหรับเรื่องที่พูดถึงกันบนสังคมออนไลน์ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ของ KOL ในการสื่อสารกับผู้ติดตาม
- Social Listening Tool จะช่วยให้เราเห็นภาพรวมและเข้าใจผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
รับมือจอฟ้ากับการตลาดในยามวิกฤต… Blue Screen Marketing ก็มา!
ถึงแม้ จอฟ้ามรณะ (Blue Screen of Death) จะเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่สำหรับนักการตลาดและเหล่าครีเอเตอร์ไทย กลับฉกฉวยวิกฤตครั้งนี้มาสร้างสรรค์คอนเทนต์แบบ Real-time Marketing ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มยอด Engagement สร้างผลดีให้กับแบรนด์แล้ว ยังเผยให้เห็นถึงเสน่ห์ของคนไทยที่ไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับปัญหาที่หนักหนาแค่ไหน ก็พร้อมจะฝ่าฟันไปด้วยรอยยิ้ม ทำให้กลายเป็นเรื่องที่เบาลงได้ แบรนด์ที่ออกมาทำ Real-time Marketing บนโซเชียลมีเดีย เช่น QuanTum, AP, และไผ่ทอง เป็นต้น

CrowdStrike จุดประกายความสนใจเรื่อง IT ของคนไทย พากันตามหาข้อมูลจาก KOL
วิกฤตไซเบอร์ระดับโลกจาก CrowdStrike ได้สร้างความตื่นตัวในประเทศไทย แม้จะไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางมาก่อนเนื่องจากเป็นธุรกิจ B2B (ฺBusiness-to-business) ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ดึงดูดความสนใจของสื่อไทยทั้งในโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสหลัก ต่างมีการนำเสนอข้อมูลของบริษัท CrowdSrike สาเหตุของปัญหา และผลกระทบระดับโลก ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากต้องการฟังคำอธิบายและวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น
นายอาร์ม หนึ่งใน KOL ด้านไอทีที่ได้รับความเชื่อถือจากชาวโซเชียลไทย กลายเป็นที่พึ่งของชาวเน็ตจากปัญหาวิกฤตนี้ หลายคนได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์ข่าวว่ารอฟังการวิเคราะห์จากนายอาร์มอยู่ บางคนถึงกับใช้วลีเฉพาะแฟนคลับอย่าง “คืองี้เว้ยแชท” เพื่อรอติดตามการแสดงความเห็นจากช่องของเขา โดยในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 นายอาร์มก็ได้ Live ถ่ายทอดสดพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบที่จะตามมากับ CrowdStrike และลูกค้าของ CrowdStrike โดยร่วมกับคุณอู๋ spin9 ทำคอนเทนต์ผ่าน Channel YouTube ใหม่ที่ทำร่วมกันในชื่อ Spin9arm ซึ่งจากการ Live สดพูดคุยประเด็นเรื่องปัญหา Crowdstrike ได้ยอด Engagement ที่ 9,512 ครั้งและยอด views รวม 257,739 ครั้ง
ประเด็นฮอตบนโซเชียลท่ามกลางวิกฤตจอฟ้า

ผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ส่งผลเป็นวงกว้างทั่วโลก โดยจากการสรุปประเด็นความคิดเห็นที่เกิดขึ้น พบว่า พฤติกรรมของชาวโซเชียลในไทยจำนวนมากคือ “การแชร์ข้อมูล เรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อวิถีชีวิตคู่ไปกับเทคโนโนโลยี” โดยพบประเด็นที่ได้รับการแชร์มากที่สุด ตามลำดับ ดังนี้
- ผลกระทบต่อระบบและการให้บริการ: 38.6% (ได้แก่ ระบบโอน-ถอนเงิน, mobile banking, เที่ยวบินดีเลย์, การเข้าถึงข้อมูลภายในโรงพยาบาล)
- ปัญหาทางเทคนิคและระบบปฏิบัติการ: 22.7% (ได้แก่ การพูดถึงปัญหาจอฟ้า, bitlocker)
- ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการแก้ไขปัญหา: 13.6%
- ข้อเสนอแนะ 4.1%
- อื่นๆ 21.0%
กรณีศึกษาวิกฤต CrowdStrike
สนามบินป่วน! "จอฟ้ามรณะ" ทำผู้โดยสาร Check-in ไม่ได้
ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือความวุ่นวายในสนามบินทั่วโลก รวมถึงสนามบินในประเทศไทยด้วย เพราะระบบเช็คอินขัดข้อง ทำให้เกิดความล่าช้าและมีคนล้นสนามบิน สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ท่าอากาศยานไทย (AOT) จึงประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อแจ้งให้ผู้โดยสารมาถึงสนามบินก่อนเวลาเครื่องออกอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันความล่าช้าที่อาจทำให้พลาดเที่ยวบิน
แต่เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวของ AOT เป็นภาษาไทย ทำให้มีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ขอให้เพิ่มข้อมูลเป็นภาษาอื่น ๆ เช่น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย และรัสเซีย เป็นต้น เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจได้ง่ายขึ้น AOT จึงได้โพสต์ประชาสัมพันธ์อีกครั้งเป็นภาษาอังกฤษ
Air Asia หวนคืนสู่วิถีเดิม ใช้ระบบ Manual แทน Computer
เนื่องจากเหตุขัดข้องของระบบ Check-in สายการบินหลักที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้คือ Thai Air Asia ทำให้สายการบินต้องแก้ปัญหาด้วยการให้พนักงานออกตั๋วเครื่องบินแบบเขียนด้วยมือ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียดรอบคอบ ส่งผลให้การ Check-in เกิดความล่าช้า โดย Thai Air Asia ได้มีการประชาสัมพันธ์แนะนำให้ผู้โดยสารที่ไม่มีสัมภาระโหลดใต้เครื่องทำการ Check-in ล่วงหน้าผ่าบเว็บไซต์ของสายการบิน เพื่อความสะดวกรวดเร็วขณะอยู่ที่สนามบิน
โดยวิธีการแก้ปัญหาของ Air Asia ที่น่าสนใจคือ ทาง Malaysia Air Asia ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดการผู้โดยสารช่วงสุดสัปดาห์ ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินกว่า 200 คน อาสาสมัครเกือบ 100 คน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์และเพิ่มความสะดวกสบายของผู้โดยสาร ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังเช่นนี้อีก สายการบินอื่น ๆ สามารถนำการแก้ไขปัญหาของ Malaysia Air Asia มาปรับใช้ในองค์กรของตนได้
ระบบล่ม! กระทบธุรกรรมการเงินในยุคไร้เงินสด
ปัญหาระบบขัดข้องไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสายการบินเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อธนาคารและสถาบันการเงินด้วย โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนพึ่งพาการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์
ผลกระทบที่เกิดขึ้น:
1. ลูกค้าของ InnovestX ธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่สามารถใช้บริการ InnovestX Webtrade ได้ชั่วคราว แต่ยังสามารถลงทุนผ่านแอปพลเคชัน InnovestX ผ่านมือถือได้ตามปกติ
2. ลูกค้าของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินบนแอปพลิเคชันบนมือถือได้
3. ประชาชนหลายรายไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ
เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของสังคมไร้เงินสดเมื่อระบบเกิดปัญหา และความสำคัญของการมีทางเลือกในการทำธุรกรรมการเงิน โดยธนาคารไทยพาณิชย์มีการสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก) ว่าเกิดเหตุขัดข้องอันเนื่องมาจากผู้ให้บริการ Crowdstrike ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ พร้อมแนะนำช่องทางการทำธุรกรรมที่ยังสามารถให้บริการได้
อย่างไรก็ตาม การสื่อสารทำให้ลูกค้าทราบถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่สมบูรณ์ แต่การสื่อสารถือเป็นการจัดการวิกฤตที่สำคัญ ดังนั้นการดำเนินการควบคู่กันไปทั้งการสื่อสารและการแก้ไขระบบจึงเป็นสิ่งที่ควรทำในยามเกิดวิกฤตเช่นกรณีดังกล่าว
ต้องหาแผนสำรองป้องกันปัญหาเกิดซ้ำ
จากวิกฤตที่เกิดขึ้นพบว่าชาวโซเชียลไทยเริ่มมีความคิดเกี่ยวกับแผนสำรอง หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อเป็นการป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระบบไอทีล่ม เช่น การพกเงินสดติดตัวเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการชำระเงินผ่าน QR Code มีการพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องมีโน๊ตบุ๊ค หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ระบบปฎิบัติการอื่นที่ไม่ใช่ Windows เป็นต้น
เหตุการณ์ จอฟ้ามรณะ (Blue Screen of Death) ในครั้งนี้ถือเป็นปรากฎการณ์ครั้งใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวล ความสับสนต่อข่าวสารที่พรั่งพรูออกมาจากสื่อต่าง ๆ และความตื่นตัวต่อเหตุการณ์นี้ของชาวโซเชียลไทย รวมไปถึงความพยายามในการหาข้อมูลและวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันก็มีการใช้มุกตลกสื่อสารออกมาทั้งในรูปแบบของการแสดงความคิดเห็นและการสร้างคอนเทนต์
ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 19-24 กรกฎาคม 2567
เกี่ยวกับ DXT360
DXT360 เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารได้ทั้งจากโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ สื่อบรอดคาสท์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของผู้บริโภค (Consumer Voices) คอนเทนต์จาก Influencers และ KOLs ไปจนถึงข่าวจากสื่อมวลชน ที่รวบรวมเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน มีการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ Dashboard ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละราย (Customizable Dashboard) จึงทำให้เข้าใจและเห็น Insight ในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยให้เห็นทิศทางการสื่อสารของแบรนด์ต่าง ๆ สามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารขององค์กรได้

By Panida Pinapang, Chareef Soudon, Kanisorn Rasrichai, Patchreeporn Pornapirat, Ormanee Sudecha