เจาะกระแส “มาตาลดาฟีเวอร์” ละครฟีลกู๊ด Engagement สูงกว่า 14 ล้านครั้ง

“มาตาลดา” ละครดราม่า-โรแมนติก-ฟีลกู๊ด ที่ถูกยกให้เป็นละครน้ำดีแห่งปี ลาจอกันไปด้วยเรตติ้ง Nationwide 5.75 นับเป็นละครที่ทำเรตติ้งสูงสุดตั้งแต่ออกอากาศ และสูงสุดของละครช่อง 3 ในรอบ 3 ปี สอดคล้องกับกระแสบนโซเชียลมีเดีย จากการเก็บรวบรวมข้อมูลในสังคมออนไลน์โดยใช้เครื่องมือ DXT360 ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ที่มีการกล่าวถึงละคร “มาตาลดา” ระหว่างวันที่ 13-17 ส.ค. 66 ในช่วงระหว่างการออกอากาศ 2 ตอนสุดท้าย มีการพูดถึงมากกว่า 6,480 ข้อความ และได้รับการมีส่วนร่วมหรือ Engagement สูงถึง 14,081,863 ครั้ง

ในช่วงระหว่างการออกอากาศของละครมาตาลดานับเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงบนโซเชียลมีเดียจนเกิดเป็นไวรัลคำทักทายยอดฮิต และนำไปสู่การที่เพจแบรนด์ต่าง ๆ ได้หยิบคำจากบทละครไปสร้างคอนเทนต์ทางการตลาด รวมถึงการรีแคปบทพูดจากตัวละครในเรื่อง ที่แฝงไปด้วยข้อคิดให้ผู้ชมได้คิดตาม ทางทีม Insight ได้รวบรวมข้อมูลพร้อมพาไปเจาะกระแสความนิยมกันในบทความนี้

กระแส "มาตาลดา" ฮิตติดเทรนด์ยันตอนจบ

“มาตาลดา” ละครที่บอกเล่าเรื่องราวด้านครอบครัว และการยอมรับกันในสังคมได้อย่างดีเยี่ยม โดยการนำเสนอเรื่องราวที่แฝงไปด้วยทัศนคติ จิตวิทยา และข้อคิดต่าง ๆ ผ่านตัวละครที่ส่งทอดและสร้างการรับรู้ใหักับผู้ชมได้อย่างดีเยี่ยม สร้างความอบอุ่นหัวใจให้กับผู้ชมและยังเป็นกระบอกเสียงในการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงประเด็นด้านครอบครัว การยอมรับเพศทางเลือกจากสังคมได้มากขึ้น จนได้รับการตอบรับจากผู้ชมและเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องจนถึงตอนจบบนโซเชียลมีเดีย ดูได้จาก Word Cloud ตามรูป

เครดิตภาพนักแสดง : Facebook Ch3Thailand

"สวัสดีเป็นหนึ่ง" ประโยคทักทายจากตัวละคร นำไปสู่กระแสไวรัลบนโลกโซเชียลมีเดีย

จากเพจ 3plus โพสต์ขอ 1 ประโยคจาก #มาตาลดาที่ประทับใจ แฟน ๆ ละครได้เข้ามาคอมเมนต์จำนวนมาก โดยประโยคที่คนคอมเมนต์มากที่สุด คือ “สวัสดีเป็นหนึ่ง สวัสดีมาตา” โดยเป็นประโยคที่นางเอกกับพระเอกใช้สำหรับทักทายกันในเรื่อง ซึ่งพบว่ากลายเป็นประโยคฮิตบนโซเชียลมีเดีย หลังจากที่ แอคเคาน์ อินสตาแกรม jirayu_jj หรือ เจมส์จิ ที่รับบท “เป็นหนึ่ง” ในเรื่อง ได้โพสต์ซาวด์เสียงว่า “สวัสดีเราเป็นหนึ่ง เธอเป็น … ( เป็นไรกันบ้างพิมพ์มาสิ๊ )” ทำให้คนคอมเมนต์อย่างล้นหลามจนกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น “สวัสดีเป็นหนึ่ง เราเป็นหนี้นะ” หรือ “สวัสดีเป็นหนึ่ง เราเป็นอึ่งนะ” นับว่าเป็นประโยคยอดฮิตสุดไวรัลบนโลกสังคมออนไลน์ในช่วงระหว่างละครออกอากาศ และยังเป็นการเพิ่มผู้ชมหน้าใหม่จากประโยค “สวัสดีเป็นหนึ่ง” ได้อย่างมาก

จากประโยคทักทาย "สวัสดีเป็นหนึ่ง" สู่การสร้าง Real Time Marketing

นอกจากนั้น ประโยคทักทาย “สวัสดีเป็นหนึ่ง” ยังถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นคอนเทนต์ด้านการตลาด ผ่านการสื่อสารในรูปแบบ Realtime Marketing จากแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมกับละคร รวมถึงยังเป็นการ Tie-in ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ได้อีกด้วย ยกตัวอย่าง ดังนี้

  • Supalai
    Supalai(ศุภาลัย) เพจผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่พลาดที่จะตามกระแส โดยสร้างสรรค์คอนเทนต์ร่วมกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ คือ โครงการศุภาลัย วิลล์ วงแหวน – ลำลูกกา คลอง 7 ที่คิดจากชีวิตแมว #BuiltForCatLife ได้สร้างสรรค์ออกมาเป็นคอนเทนต์ “สวัสดีเป็นหนึ่ง ‘เราเป็นแมวนะ’ มานั่งเล่นที่บ้านเราไหม” โดยแบรนด์ต้องการสื่อให้เห็นถึงจุดขายหลักของโครงการที่เป็นบ้านสำหรับคนเลี้ยงแมว โดยได้รับ Engagement กว่า 6,871 นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว อาจเป็นเพราะคอนเซ็ปต์ของโครงการที่คิดมาเพื่อเอาใจคนเลี้ยงแมวโดยเฉพาะ สอดคล้องกับปัจจุบันที่คนสนใจเลี้ยงแมวมากขึ้น และมีการใช้คำพูดยอดฮิตจากละครที่กำลังเป็นกระแส จึงได้รับ Engagement ที่สูง
  • The Pizza Company
    แบรนด์พิซซ่าเจ้าใหญ่ในไทยก็ไม่พลาดกระแสมาตาลดาเช่นเดียวกัน แบรนด์ได้ใช้คำทักทายจากมาตาลดา ที่ฮิตติดเทรนด์สร้างสรรค์เป็นคอนเทนต์ โดยปรับให้เข้ากับแบรนด์ ออกมาเป็นคอนเทนต์ “สวัสดีเป็นหนึ่ง เรา ‘มาตาปะนี’ ขอเอาพิซซ่าไปกินที่บ้านเป็นหนึ่งได้ไหม” ซึ่งแบรนด์ต้องการสื่อให้เห็นถึงจุดขายของพิซซ่าสามารถสั่งไปรับประทานที่บ้านได้สะดวก และเป็นการประชาสัมพันธ์พิซซ่าหน้าฮอตค็อกเทลกุ้งอีกด้วย
  • UOAT Official
    นอกจากนี้ ยังมี UOAT Official เพจแบรนด์นมข้าวโอ๊ตโดยคนไทย ก็ได้ใช้กระแสคำทักทายมาทำเป็นคอนเทนต์ร่วมกับแบรนด์เช่นกัน โดยสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมาเป็น “สวัสดีเป็นหนึ่ง ! สวัสดีมาตา ! วันนี้มาตาพายูโอ๊ต มาด้วยนะ” โดยแบรนด์ต้องการสื่อให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมกับละคร อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ของแบรนด์ นั่นก็คือนมโอ๊ตไปในตัวด้วย

บทละครที่แฝงข้อคิด เรียกยอด Engagement ถล่มทลาย

หากมาดูในช่องทาง Facebook จะพบว่าโพสต์ส่วนใหญ่ที่ได้รับ Engagement สูงจะเป็นการ รีแคปไดอะล็อกที่เป็นข้อคิดคำสอนในด้านต่าง ๆ ที่ทัชใจคนดู ดังนี้

เครดิตภาพนักแสดง: Facebook Ch3Thailand
  • ไดอะล็อก “มาตาลดา” กับ “เป็นหนึ่ง”
    “อย่าเลิกเลยนะ กว่าผมจะหาคุณเจอไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ” เป็นไดอะล็อกที่ให้แง่คิดด้านความรักกับใครหลาย ๆ คน ซึ่งชาวโซเชียลต่างคอมเมนต์ว่าให้เป็นประโยคบอกรักที่ไม่มีคำว่ารัก และยังรับรู้ได้ถึงความอบอุ่นจากตัวละคร จนทำให้ใครหลายคนบอกว่าอยากเป็นมาตาลดา โดยโพสต์เดียวกวาด Engagement ไปกว่า 176.4K ครั้ง
  • ไดอะล็อกแม่ของมาตาลดา
    “มาตาเป็นลูกเรานะ ลูกจะผ่านไปได้แน่นอน เชื่อมนสิ” รับรู้ได้ถึงพลังความเป็นแม่ และความเชื่อมั่นในตัวลูกที่ถูกสื่อสารออกมาอย่างจริงใจ ความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ต่างชื่นชมถึงแนวคิดและทัศนคติที่ดีของคนเป็นพ่อแม่ และยังชื่นชมไปถึงตัวนักแสดงที่ถ่ายทอดบทบาทออกมาได้สมจริงจนผู้ชมนั้นอินกันไปตาม ๆ กัน ได้รับ Engagementไปกว่า 122.7K ครั้ง
  • ไดอะล็อก “อรุณรัศมี”
    ด้วยกระแสละครตอนจบ ตัวละครอรุณรัศมี หรือ คุณแพง นั้นได้พูดประโยคที่ให้แง่คิดกับใครหลายคนจนเกิดการแชร์บนโซเชียลมีเดีย เป็นประโยคที่ตัวละครบอกว่า “ต่อให้ใครไม่ให้อภัยแพง แต่แพงจะให้อภัยตัวเอง” เรียกได้ว่าและทัชใจคนดูจนได้รับ Engagement ไปกว่า 109.4K ครั้ง และความคิดเห็นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าชื่นชอบแนวคิดนี้

บทสรุป

จากกระแสละครนำไปสู่การสร้าง Soft Power จนพลิกแพลงวงการต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว ทำผม หรือแต่งหน้าตามมาตาลดา ทั้งยังมีร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ โปรโมทเมนูอาหารที่ถูกพูดถึงในละคร รวมถึงการท่องเที่ยวตามรอยละครมาตาลดาในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี

ขณะที่แฟนละครยังเรียกร้องให้มีการทำภาคต่อ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องระหว่างคู่ ไตรฉัตร-รีรี่ หากผู้จัดดำเนินการถ่ายทำภาคต่อ กระแสละครจะยังคงปังเหมือนภาคนี้หรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมผ่าน DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 13 ก.ค. – 17 ส.ค. 66

ดูละคร “มาตาลดา” แล้วย้อนดูตัว

LGBTQ+ กับการยอมรับในสังคมที่มากขึ้น

ตัวละครหลักผู้เป็น LGBTQ+ ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว นำไปสู่ความขัดแย้งภายในครอบครัว ซึ่งสะท้อนถึงบริบทสังคมไทยที่แม้ปัจจุบันจะเปิดกว้างและมีการยอมรับจากครอบครัวมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีกลุ่มคนที่มองเรื่อง LGBTQ อย่างมีอคติ เหมือนกับตัวละครในมาตาลดาที่ต้องพิสูจน์ตัวตนเพื่อให้ถูกยอมรับจากสังคมและที่สำคัญคือการยอมรับจากครอบครัว โดยบทละครมาตาลดาได้สร้างการรับรู้ให้กับผู้ชมและสังคมในการยอมรับและปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่เป็น LGBTQ+ ว่า “ไม่ควรตัดสินใครจากเพศสภาพหรือรูปลักษณ์ภายนอก และให้มองว่าทุก ๆ คนเป็นมนุษย์เหมือนกัน” ซึ่งถูกพูดถึงในโลกสังคมออนไลน์เป็นอย่างมากจากประเด็นดังกล่าว

ขณะที่ “มาตาลดา” ตัวละครที่เติบโตมาในครอบครัว LGBTQ+ ที่ถึงแม้ว่าสังคมจะมองว่าเป็นครอบครัวที่ไม่ปกติ แต่ มาตาลดาและพ่อเกรซ ได้ทำให้ทุกคนรู้ว่า แม้จะถูกเลี้ยงดูและเติบโตมาในครอบครัวที่เป็น LGBTQ+ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแตกต่างจากคนอื่น ๆ ซึ่งเรื่องราวในด้าน LGBTQ+ และการสอดแทรกถึงการเลี้ยงดูในครอบครัวได้สะท้อนสู้บริบทของสังคมไทยที่เป็นอยู่ และถูกพูดถึงในสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก

เครดิตภาพประกอบ : ข่าวประชาสัมพันธ์ Ch3Thailand

ความสัมพันธ์ในครอบครัวกับการคาดหวังลูกให้เป็นในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ

ได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่สร้างแง่คิดเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ผ่านการเปรียบเทียบ 4 รูปแบบความสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของมาตาลดาที่พ่อเป็น LGBTQ+ ถูกมองว่าเป็นครอบครัวที่แปลกและไม่ปกติ แต่พ่อเกรซได้แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าตนจะเป็น LGBTQ+ ก็สามารถเลี้ยงลูกให้ได้เป็นอย่างดี ขณะที่

พระเอกของเรื่อง ที่คนภายนอกอาจมองว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่แท้จริงแล้ว เส้นทางในการเติบโตของ “เป็นหนึ่ง” ไม่ได้มีอิสระและสบายเหมือนกับคนอื่น ๆ ต้องถูกกดดันจากพ่อ โดยการยัดเยียดและกำหนดเส้นทางชีวิตให้กับตัวเองมาโดยตลอด

ที่เปรียบเทียบและคาดหวังให้ “ไตรฉัตร” เก่งสมบูรณ์แบบเหมือนกับ “เป็นหนึ่ง” ส่งผลให้ ไตรฉัตร พยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะ เป็นหนึ่ง และมองว่าเป็นหนึ่งเป็นคู่แข่งมาโดยตลอด และยังเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเสมอเพื่อต้องการให้แม่ภูมิใจ

ซึ่งคุณแพงไม่อยากต้องเสียใจแบบแม่จึงพยายามเข้มแข็งในทุกเรื่อง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วคนเราไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งตลอดเวลา

จาก 4 ครอบครัวในบทละคร มาตาลดา ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่แตกต่างกัน บางครอบครัวอาจมีพร้อมในทุก ๆ อย่าง แต่อาจอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความสุข หรือบางครอบครัวอาจไม่ได้อยู่พร้อมหน้าแบบพ่อแม่ลูก แต่ลูกกลับไม่ได้รู้สึกขาดหรือแตกต่างไปจากครอบครัวอื่น ซึ่งบทละครมาตาลดา ได้สอดแทรกเนื้อหาด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว และสร้างการรับรู้ให้กับสังคมในปัจจุบันว่า จริง ๆ แล้วคำว่าสมบูรณ์แบบ ไม่ได้เป็นตัววัดว่าจะสร้างให้ครอบครัวให้มีความสุขได้เสมอไป และคำว่าครอบครัว อาจไม่ใช่บุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเพียงอย่างเดียว แต่คือกลุ่มคนที่สร้างความสบายใจ พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างกันในวันที่เราอ่อนแอ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเรา

เครดิตภาพประกอบ : ข่าวประชาสัมพันธ์ Ch3Thailand

จากการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทละคร มาตาลดา ทั้งในเรื่อง LGBTQ+ และความสัมพันธ์ของครอบครัว ที่สามารถสร้างการรับรู้ให้กับผู้ชม นำไปสู่การพูดถึงและแบ่งปันข้อคิดต่าง ๆ ที่ได้จากละครเรื่องนี้บนโลกสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก

By Supisara Nirahanee and Narupon Klaiyuangthong

By Supisara Nirahanee and Narupon Klaiyuangthong

Insight Data Analysts, Dataxet Limited

ข่าวล่าสุด

เปิดมุมมอง 7 กูรู ดูโอกาสและอุปสรรคสื่อไทยปี 2568

สื่อไทยยังคงมีโอกาสเติบโตท่ามกลางการแข่งขันกับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ กุญแจสู่ความสำเร็จคือการปรับการผลิตคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม ซึ่งจะนำไปสู่โมเดลธุ…

Read More »

กลยุทธ์การสร้างคอนเทนต์ปัง! กับ 3 ผู้เชี่ยวชาญวงการเล่าเรื่องแบรนด์

การสร้างคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยการรักษาสมดุลระหว่างองค์ประกอบสามด้าน ได้แก่ ผู้ชม แบรนด์ และผู้สร้างคอนเทนต์โดยต้องค้นหาจุดร่วม (Common Value)

Read More »

5 วิธีปรับใช้ Micro-Content สำหรับแบรนด์

Micro-Content เป็นกลยุทธ์การทำคอนเทนต์แบบสั้น โดยย่อยประเด็นออกมาให้กระชับ เข้าใจง่าย เพื่อดึงความสนใจจากลูกค้าบนโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียในช่วงสั้น ๆ เหมาะกับการนำมาใช้ในแคมเปญการตลาด

Read More »

กลยุทธ์ทำ SEO วิดีโอ ให้ติดอันดับ Google ปี 2024

ทราฟฟิกบนอินเทอร์เน็ตกว่า 80% มาจากคอนเทนต์วิดีโอ ทำให้การทำ SEO สำหรับวิดีโอกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในปัจจุบัน

Read More »

อนาคตวงการครีเอเตอร์ไทยในปี 2035: บทวิเคราะห์จากงานวิจัย FORESIGHT STUDY

ผลการศึกษาของ Tellscore และ FutureTales LAB by MQDC ในงาน THAILAND INFLUENCER AWARDS เผยภาพอนาคตวงการครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ไทยใน 6 มิติสำคัญ

Read More »

ดาต้าเซ็ตร่วมประชุม World Media Summit 2024 ถกประเด็น AI เปลี่ยนโลกสื่อ

ดาต้าเซ็ตเข้าร่วมการประชุม World Media Summit ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “ปัญญาประดิษฐ์กับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ” ณ เมืองอุรุมชี ประเทศจีน 14-17 ต.ค. 67

Read More »