จับกระแส “หม่าล่า” เผ็ดร้อนสไตล์จีน สู่เมนูยอดฮิตในไทย

กระแสความนิยม “หม่าล่า” เครื่องเทศรสเผ็ดชาจากจีน ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านสุกี้ ขนมขบเคี้ยว พิซซ่า ในไทย หยิบ “หม่าล่า” มาสร้างสรรค์เป็นเมนูเสิร์ฟให้กับกลุ่มลูกค้ากันอย่างต่อเนื่อง ด้วยรสชาติที่มีลักษณะเฉพาะตัวและเป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับคนไทยชอบทานรสเผ็ดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และที่สำคัญแบรนด์ต่าง ๆ ในไทยฟัง “เสียงผู้บริโภค” ในโลกสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ว่า ทำไม หม่าล่าหม้อไฟและหม่าล่าสายพานถึงเป็นเมนูยอดนิยมของเหล่าหม่าล่าเลิฟเวอร์

Engagement หม่าล่าบนสังคมออนไลน์

จากการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) ที่มีการพูดถึง “หม่าล่า” ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 11 กันยายน 2566 พบว่า สังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดียมีการพูดถึงหม่าล่ามากถึง 3,697 ข้อความ และ มี Engagement ทั้งหมดจำนวน 315,561 ครั้ง โดยแบ่งเป็น

• Twitter มีการพูดถึง 2,691 ข้อความ มีจำนวน Engagement 4,875 ครั้ง
• Facebook มีการพูดถึง 455 ข้อความ มีจำนวน Engagement 175,225 ครั้ง
• Instagram มีการพูดถึง 281 ข้อความ มีจำนวน Engagement 95,804ครั้ง
• YouTube มีการพูดถึง 270 ข้อความ มีจำนวน Engagement 39,657 ครั้ง

ทำไมเมนู “หม่าล่า” ถึงเป็นที่นิยม?

ในช่วงปีนี้กระแส “หม่าล่าชาบู” หรือ “หม่าล่าสายพาน” ในประเทศไทยมาแรงมาก ซึ่งหม่าล่าฟีเวอร์นั้นก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2018 แต่ในปีนั้นเมนูที่ได้รับความนิยมจะเป็น “หม่าล่าปิ้งย่างเสียบไม้” ที่เรามองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ร้านที่ขายเมนูนี้ ซึ่งในช่วงนั้นจุดเริ่มต้นกระแสหม่าล่าก็ได้เกิดขึ้น โดยร้านที่ปลุกกระแสหม่าล่าฟีเวอร์นั่นก็คือ “Hai Di Lao” ร้านหม่าล่าหม้อไฟชื่อดังจากประเทศจีนที่เข้ามาเปิดสาขาที่ประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้าน ซึ่งการเข้ามาของร้าน Hai Di Lao ทำให้ตลาดร้านอาหารในประเทศไทยมีเมนูที่นำหม่าล่าเข้ามาเป็นส่วนประกอบและก็ยังมีร้านหม่าล่าหม้อไฟใหม่ ๆ เข้ามาลงเล่นในตลาดอีกด้วย

โดยในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ เมื่อทุกคนมองไปทางไหนก็จะเห็นแต่หม่าล่าสายพาน ซึ่งร้านที่เป็นต้นกำเนิดหม่าล่าสายพานที่ฮิตกันทั่วเมืองนั่นก็คือ “สุกี้จินดา” ร้านหม่าล่าหม้อไฟที่เพิ่มสายพานเข้ามาเป็นกิมมิค และการกินหม้อไฟที่เป็นแบบหม้อเดี่ยวมีราคาที่เข้าถึงได้ง่าย โดยร้านคิดราคาเป็นไม้ไม้ละ 5 บาท ไปจนถึง 50 บาท จนหลายคนยอมต่อคิวรอเป็นชั่วโมงเพื่อให้ได้เข้าไปกิน

จากการรวบรวมข้อมูลในหัวข้อ “หม่าล่า” บนแพลตฟอร์ม DXT360 พบว่าบนโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่จะพูดถึง “ชาบูหม่าล่า” มากที่สุด รองลงมา “อยากกินหม่าล่า” และ อันดับที่ 3 “หม่าล่าหม้อไฟ” ซึ่งสามารถบอกได้ว่าประเภทหม่าล่าที่คนบนโซเชียลสนใจเป็น “หม่าล่าชาบู” หรือ “หม่าล่าหม้อไฟ”

และถ้าพูดถึงประเภทอาหารที่ทุกคนต้องนึกถึง เรียกได้ว่าไม่สามารถขาดคำว่า ชาบู สุกี้ และ ปิ้งย่าง ไปได้ และเมื่อพูดถึงหม่าล่าด้วยแล้ว พบว่า “ชาบูหม่าล่า” ถูกพูดถึงมากที่สุด 46% รองลงมาเป็น “สุกี้หม่าล่า” 37% และ “ปิ้งย่างหม่าล่า” 17%

ร้านหม่าล่าล้นตลาด?

“หม่าล่า” กลายเป็นเทรนด์ฮิตของคนทำธุรกิจร้านอาหาร จากช่วงระยะเวลาในการเก็บข้อมูลที่ผ่านมา 12 วัน (31 สิงหาคม – 11 กันยายน) บน Facebook YouTube Instagram และ Twitter พบว่า มีการพูดถึงร้านหม่าล่าเปิดใหม่ เฉพาะแค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 11 ร้าน ซึ่งตกเฉลี่ยเกือบวันละ 1 ร้านกันเลยทีเดียว

และนอกจากกระแสหม่าล่าสายพานที่มาแรงแล้ว ในปัจจุบันหลายร้านก็เริ่มเปิดให้บริการรับประทานหม่าล่าแบบบุฟเฟต์ โดยมีราคาตั้งแต่ถูกยันแพง โดยเราได้รวบรวมร้านหม่าล่าบุฟเฟต์มาทั้งหมดมากกว่า 24 ร้าน เมื่อวิเคราะห์ราคาบุฟเฟต์จะเริ่มต้นตั้งแต่ 159 บาทถึง 599 บาท โดยจะมีค่าเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 289 บาท

ชี้เป้ารายชื่อร้านสำหรับใครที่อยากไปติดตามร้านหม่าล่าเปิดใหม่ตามนี้เลย… Xixi mala tang, DA ZHENG Hotpot, สุกี้นางพญา, อ้วนนะบุฟเฟ่ต์, Ai Huo Guo, ซีซ่วนซ่วน ชาบูหม่าล่า, ตงหลิน หม่าล่า ชาบูบุฟเฟต์, LaLa Shabu, EuroBBQ, GuRu MaLa Hotpot, ไคว่เล่อหม่าล่าทั่ง

ส่องเทรนด์หม่าล่า “ไปต่อหรือพอแค่นี้” และแบรนด์ที่เข้ามาลงเล่นในตลาดหม่าล่า

คงต้องดูกันต่อไปว่ากระแสการบริโภคหม่าล่าจะยังเป็นที่นิยมถูกปากผู้บริโภคชาวไทยไปอีกนานแค่ไหน ? แต่ตอนนี้..ต้องยอมรับว่า “หม่าล่าหม้อไฟ” และ “หม่าล่าสายพาน” ยังคงยืนในกระแสมาเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งจากข้อมูลที่เรารวบรวมผ่านเครื่องมือ DXT360 พบว่าผู้คนบนโซเชียลยังคงให้ความสนใจกับหม่าล่า และหม่าล่าก็ยังคงเป็นกระแสอยู่ ซึ่งเห็นได้จากการผสมผสานเมนูที่แปลกใหม่จากร้านต่างๆ ไปจนถึงแบรนด์ดังออกแคมเปญและเมนูใหม่ที่ดัดแปลงให้มีส่วนผสมของหม่าล่าเพื่อให้ทันกระแสโซเชียล อาทิ

  • The Pizza Company

    ไม่ว่าจะเป็น The Pizza Company ที่ออกเมนูใหม่อย่างพิซซ่าหน้าเครื่องหม่าล่ามาให้ได้ลิ้มลอง โดยพิซซ่าหม่าล่านี้จะผสมผสานระหว่างอาหารอิตาเลี่ยนและอาหารจีน หน้าพิซซ่าจะมีทั้งเนื้อหมูสไลซ์ น้ำมันฮวาเจียว พริกแห้งอบ ต้นหอม ผักมิกซ์ มอสซาเรลล่าชีส และซอสหม่าล่า

  • MK Restaurants

    ชาบูสุกี้ร้านดังอย่าง MK Restaurants ก็ออกเมนูหม่าล่ามาเช่นกัน โดยทางร้านก็ได้ทำการดัดแปลงน้ำซุปชาบูสุกี้ให้เป็นน้ำซุปหม่าล่าจีนเสฉวน และก็ยังมีเมนูจานเดี่ยวนั่นก็คือบะหมี่ไข่ไต้หวันซุปหม่าล่าเสฉวนมาให้ได้ลิ้มลองกันอีกด้วย

  • Lay’s

    และแม้แต่แบรนด์ขนมชื่อดังอย่าง Lay’s ก็ไม่พลาดที่จะนำสินค้าอย่างเลย์รสหม่าล่าบาร์บีคิวที่วางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2563 กลับมาวางขายใหม่เอาใจเหล่าหม่าล่าเลิฟเวอร์

  • Bar B Q Plaza

    นอกจากร้านชาบูสุกี้ที่ทำเมนูเกี่ยวกับหม่าล่าแล้ว ก็ยังมีร้านปิ้งย่างชื่อดังอย่าง Bar B Q Plaza เข้ามาลงสนามทำเมนูหม่าล่า โดยออกเมนูที่มีชื่อว่า GON.X.BOX ซอสหม่าล่า ซึ่งเป็นข้าวกล่องหน้าหมูสไลซ์ซอสหม่าล่า

  • Baanbanfood

    Baanbanfood ร้านขนมหวาน ได้นำรสชาติหม่าล่าจากอาหารคาว สู่ของหวาน “ขนมไหว้พระจันทร์” โดยนำรสชาติที่เผ็ดร้อน หอมกลิ่นเครื่องเทศจากหม่าล่ามาดัดแปลงเป็นไส้หม่าล่าสูตรพิเศษที่เข้ากับขนมไหว้พระจันทร์ซึ่งยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน

จากความฮ็อตของหม่าล่าที่เป็นรสชาติที่ถูกปากและครองใจใครหลายๆคน ก็ยังคงมีการพูดถึงหม่าล่ากันอย่างต่อเนื่องในโลกโซเชียล ซึ่งจะเห็นได้ว่ายังคงมีการปรับเปลี่ยนรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของหม่าล่าให้เข้ากับอาหารชนิดใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารชาติตะวันตก หรือแม้กระทั่งขนมหวานที่มีรสชาติตรงกันข้ามกับความเผ็ดชาสุดขั้ว

ในอนาคตเราจะได้ชิมหม่าล่าในอาหารจานใด หรือ เมนูแปลกใหม่ที่ผสานเข้ากับรสชาติหม่าล่า..เหล่าสาวกหม่าล่าก็คงต้องรอติดตามกันต่อไป

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมผ่าน DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 31 ส.ค. – 11 ก.ย. 66

By Pongpipat Tungkavichitwat, Ormanee Sudecha

By Pongpipat Tungkavichitwat, Ormanee Sudecha

Insight Data Analysts, Dataxet Limited

ข่าวล่าสุด

เปิดมุมมอง 7 กูรู ดูโอกาสและอุปสรรคสื่อไทยปี 2568

สื่อไทยยังคงมีโอกาสเติบโตท่ามกลางการแข่งขันกับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ กุญแจสู่ความสำเร็จคือการปรับการผลิตคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม ซึ่งจะนำไปสู่โมเดลธุ…

Read More »

กลยุทธ์การสร้างคอนเทนต์ปัง! กับ 3 ผู้เชี่ยวชาญวงการเล่าเรื่องแบรนด์

การสร้างคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยการรักษาสมดุลระหว่างองค์ประกอบสามด้าน ได้แก่ ผู้ชม แบรนด์ และผู้สร้างคอนเทนต์โดยต้องค้นหาจุดร่วม (Common Value)

Read More »

5 วิธีปรับใช้ Micro-Content สำหรับแบรนด์

Micro-Content เป็นกลยุทธ์การทำคอนเทนต์แบบสั้น โดยย่อยประเด็นออกมาให้กระชับ เข้าใจง่าย เพื่อดึงความสนใจจากลูกค้าบนโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียในช่วงสั้น ๆ เหมาะกับการนำมาใช้ในแคมเปญการตลาด

Read More »

กลยุทธ์ทำ SEO วิดีโอ ให้ติดอันดับ Google ปี 2024

ทราฟฟิกบนอินเทอร์เน็ตกว่า 80% มาจากคอนเทนต์วิดีโอ ทำให้การทำ SEO สำหรับวิดีโอกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในปัจจุบัน

Read More »

อนาคตวงการครีเอเตอร์ไทยในปี 2035: บทวิเคราะห์จากงานวิจัย FORESIGHT STUDY

ผลการศึกษาของ Tellscore และ FutureTales LAB by MQDC ในงาน THAILAND INFLUENCER AWARDS เผยภาพอนาคตวงการครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ไทยใน 6 มิติสำคัญ

Read More »

ดาต้าเซ็ตร่วมประชุม World Media Summit 2024 ถกประเด็น AI เปลี่ยนโลกสื่อ

ดาต้าเซ็ตเข้าร่วมการประชุม World Media Summit ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “ปัญญาประดิษฐ์กับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ” ณ เมืองอุรุมชี ประเทศจีน 14-17 ต.ค. 67

Read More »