3 ผู้บริหารสื่อชื่อดังเผยอนาคตสื่อต้องมีโมเดลธุรกิจชัดเจน-สร้างคอมมูนิตี้

Phot Credit: CTC2024

สำรวจทิศทางและอนาคตสื่อออนไลน์จาก 3 ผู้บริหารสื่อชื่อดังอย่าง “แบไต๋” “ไทยรัฐออนไลน์” และ”เดอะ สแตนดาร์ด” (THE STANDARD) ในงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2024 ภายใต้หัวข้อ “The Future of Media” 

ชี้การทำคอนเทนต์ต้องมีสมดุลระหว่างคอนเทนต์ทำเงินและคอนเทนต์ที่ทำด้วยใจ รวมทั้งผลิตคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่หลากหลาย ย้ำการสร้างคอมมูนิตี้สำคัญ

ธุรกิจสื่อต้องมีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน

ในฐานะเจ้าของธุรกิจสื่อชื่อดังที่คลุกคลีกับวงการผลิตคอนเทนต์มาอย่างโชกโชน “หนุ่ย” พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ผู้ผลิตสื่อ แบไต๋ (Beartai) มองว่า การทำสื่อต้องมีโมเดลธุรกิจ (Business model) ที่ชัดเจน ต้องรู้ช่องทางการสร้างรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงบริษัท เพราะแค่ความหลงใหลอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ หรือการพึ่งพาแต่เม็ดเงินจากยอดวิวแพลตฟอร์มดิจิทัลก็เสี่ยงเกินไป

คุณหนุ่ย กล่าวว่า ปัจจุบันการทำสื่อออนไลน์อยู่ในช่วงขาลง หลังผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มคนดูหดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มของจำนวนประชากรที่ลดลง ในขณะเดียวกันก็มีครีเอเตอร์ที่ผันตัวมาทำสื่อกันมากขึ้น มีคอนเทนต์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทต้องปรับลดขนาดองค์กร เดิมที แบไต๋เคยเปิดเพจมากถึง 10 เพจ แต่ไม่ใช่ว่าทุกเพจจะสามารถทำรายได้ให้กับบริษัทได้ ปัจจุบันจึงเหลือเพจหลักเพียงเพจเดียวคือ เพจแบไต๋ เพื่อควบคุมต้นทุน และหันมาเน้นการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพด้วยสโลแกน “น้อยแต่คุณภาพ” แทน

ดังนั้น สำหรับมุมมองการผลิตคอนเทนต์ในอนาคต คุณหนุ่ยยืนยันว่า บริษัทสื่อควรรักษารูปแบบการทำคอนเทนต์ทั้ง 2 แบบ ได้แก่ คอนเทนต์ที่มีโฆษณา (Branded content) และคอนเทนต์ดั้งเดิม (Original content) ของเพจ โดยชั่งน้ำหนักระหว่างการทำคอนเทนต์ของทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างจุดประสงค์ของการทำสื่อและความอยู่รอดของธุรกิจ

Phot Credit: CTC2024

ไทยรัฐออนไลน์เปิดยูทูบเพิ่ม 8 ช่อง รับ Fragmented media ตอบโจทย์สื่อออนไลน์ยุคใหม่

ในยุคที่เกิดการแบ่งแยกย่อยของแพลตฟอร์มสื่อและความสนใจของผู้เสพสื่อที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้นหรือ Fragmented media นั้น “คุณนิค” จิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจร่วมของไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ เปิดเผยว่า ในปีนี้ ไทยรัฐออนไลน์ได้เปิดช่องยูทูบเพิ่ม 8 ช่อง ซึ่งมีหน้าที่ในการนำเสนอคอนเทนต์และมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เพื่อตอบสนองความสนใจของผู้ชมที่หลากหลาย เพราะก่อนหน้านี้ ไทยรัฐเคยมัดรวมคอนเทนต์ทุกหมวดหมู่ไว้ที่ช่องเดียว แต่กลับกลายเป็นว่าคอนเทนต์บางประเภทถูกคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจมากกว่าดึงความสนใจไป

นอกจากนี้ คนทำสื่อต้องมองภาพให้ชัด รู้จักพฤติกรรมและความสนใจของกลุ่มผู้ชมของตนเป็นอย่างดี เพื่อที่จะสามารถกำหนดทิศทางคอนเทนต์ของสื่อให้เหมาะสม

และเพื่อป้องกันปัญหา “ช่องไม่ทำรายได้” คุณนิคกล่าวว่า แต่ละช่องที่เปิดใหม่จะมีปัจจัยชี้วัดผลงานหรือ KPI ที่ชัดเจน บางช่องอาจจะมี KPI ที่การเพิ่มยอดผู้ติดตาม สนับสนุนแบรนด์สื่อในเครือไทยรัฐ หรือขยายฐานผู้ชมไปยังกลุ่มที่ไทยรัฐยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์

ส่วนรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์นั้น คุณนิคแสดงความเห็นว่า การทำสื่อไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ธุรกิจสื่อต้องปรับตัวตลอดเวลา เช่นเดียวกับแนวโน้มคอนเทนต์แบบสั้น (Short-form content) และคอนเทนต์ที่มีความยาว (Long-form content) ที่ได้รับความนิยมสลับกันไปมาจากกลุ่มคนดู

Phot Credit: CTC2024

เน้นสร้างคอมมูนิตี้ เจาะกลุ่มคนดู เสริมทัพด้วย AI

ทางฟากสื่อออนไลน์ชั้นนำอย่างเดอะ สแตนดาร์ด (THE STANDARD) คุณณัฏฐา โกมลวาทิน แม่ทัพข่าวคนใหม่จากเดอะ สแตนดาร์ด เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 67 ที่เดอะ สแตนดาร์ดก็มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และได้เพิ่มช่องคอนเทนต์อีก 8 ช่อง เช่น THE STANDARD SPORT เพื่อตอบโจทย์ความสนใจของผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของเดอะ สแตนดาร์ดยังคงมุ่งเน้นไปที่กลุ่มพรีเมียมแมส (Premium mass) หรือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 25-35 ปีที่มีความสนใจข้อมูลข่าวสารเชิงลึก ต้องการพัฒนาตนเอง รวมถึงประเด็นหนัก ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ และปรัชญา

สิ่งที่เดอะ สแตนดาร์ดคำนึงถึงเป็นพิเศษคือการสร้างชุมชนหรือคอมมูนิตี้ คุณณัฏฐาอธิบายว่า การสร้างคอมมูนิตี้เป็นเรื่องสำคัญมากในการเจาะกลุ่มคนดู รายการจำเป็นต้องสร้างฐานคนดูให้ได้ โดยอาศัยความสม่ำเสมอในการผลิตคอนเทนต์ และใช้ยูทูบเป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสาร

ส่วนมุมมองการทำสื่อในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น คุณณัฏฐามองว่า เดอะ สแตนดาร์ด จะยังคงรักษาฐานความเป็นเดอะ สแตนดาร์ด แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนหรือลองแนวทางการเล่าเรื่องคอนเทนต์แบบใหม่ เช่น นำเสนอประเด็นที่เป็นกระแสสังคม แต่ยังสามารถหามุมเล่าในแบบของเดอะ สแตนดาร์ด ที่ยังคงรักษาฐานคนดูเดิมไว้อยู่

สำหรับประเด็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์หรือ AI นั้น คุณณัฏฐาเปิดเผยว่า เดอะ สแตนดาร์ดพยายามดึงเอา AI เข้ามาช่วยคนทำงานสื่อมากขึ้น เช่น การสืบค้นข้อมูล ไปจนถึงการถอดบทสัมภาษณ์ เพื่อให้สามารถทำงานแข่งกับเวลาได้ อย่างไรก็ตาม แม่ทัพสื่อของเดอะ สแตนดาร์ด กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงกรอบการการใช้งาน AI ที่เหมาะสม ทั้งในแง่ของจริยธรรม หรือความแม่นยำ

Author picture

By Woravich Sittiwang , Sunita Phanraksa

ข่าวล่าสุด

กลยุทธ์ทำ SEO วิดีโอ ให้ติดอันดับ Google ปี 2024

ทราฟฟิกบนอินเทอร์เน็ตกว่า 80% มาจากคอนเทนต์วิดีโอ ทำให้การทำ SEO สำหรับวิดีโอกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในปัจจุบัน

Read More »

อนาคตวงการครีเอเตอร์ไทยในปี 2035: บทวิเคราะห์จากงานวิจัย FORESIGHT STUDY

ผลการศึกษาของ Tellscore และ FutureTales LAB by MQDC ในงาน THAILAND INFLUENCER AWARDS เผยภาพอนาคตวงการครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ไทยใน 6 มิติสำคัญ

Read More »

ดาต้าเซ็ตร่วมประชุม World Media Summit 2024 ถกประเด็น AI เปลี่ยนโลกสื่อ

ดาต้าเซ็ตเข้าร่วมการประชุม World Media Summit ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “ปัญญาประดิษฐ์กับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ” ณ เมืองอุรุมชี ประเทศจีน 14-17 ต.ค. 67

Read More »

ดาต้าเซ็ตครบรอบ 25 ปี ขอบคุณทุกความปรารถนาดีจากลูกค้าและพันธมิตร

ดาต้าเซ็ต และสำนักข่าวอินโฟเควสท์ ขอขอบคุณในไมตรีจิตจากลูกค้า พันธมิตร และตัวแทนหน่วยงานทุกท่านที่แวะมาร่วมแสดงความยินดีกับเราในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการดำเนินธุรกิจ

Read More »

ดาต้าเซ็ตคว้ารางวัล 3rd Prize Winner จากงาน Thailand Influencer Awards 2024

ดาต้าเซ็ตได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ 3rd Prize Winner ในสาขา Best Media, Publisher, Broadcasting Influencer Campaign จากงาน Thailand Influencer Awards 2024 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567…

Read More »

บรรยากาศเปิดตัว Media Intelligence Solutions บูธดาต้าเซ็ตในงาน MIT2024

ขอบคุณผู้เข้าร่วมงานทุกท่านที่ได้มาพูดคุยและลงทะเบียนทดลองใช้บริการด้าน Media Monitoring & Social Listening ของเราในงาน Marketing Insight & Technology Conference 2024 (MITCON 2024)…

Read More »